ทำไมการเลือกงานที่มั่นคงจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป?

Kittichai Jirasukhanon
Kittichai
Published in
2 min readNov 15, 2017

--

มีผู้ปกครองท่านหนึ่งซึ่งกำลังเชียร์ให้ลูกไปทำงานในรัฐวิสาหกิจ ถกกับผมเรื่อง ทำงานบริษัทเสี่ยง ทำไมไม่ไปทำงานรัฐวิสาหกิจที่มีความมั่นคงกว่า? ในแง่มุมที่ว่า รัฐวิสาหกิจมีสวัสดิการที่ดี ดูแลกันไปจนแก่เฒ่า

นี่คือที่มาของบทความนี้

ตอนถกกันนั้น ผมมีคำถาม 2 คำถามในใจ

รัฐวิสาหกิจ มั่นคงจริง ๆ หรือ?

และ

ความมั่นคงคือปัจจัยสำคัญในการเลือกงานจริง ๆ หรือ?

Photo by Patrick Hendry — https://unsplash.com/photos/PpeFIpSYSXg

Nothing last forever

ถ้าคุณอยากฝากชีวิตไว้กับบริษัท หวังพึ่งหาสวัสดิการและกองทุนเกษียณ คุณก็ต้องคาดหวังว่าบริษัทจะเจริญรุ่งเรืองไปถึงหลังเกษียณ ซึ่งการมองอนาคตบริษัทที่ 50 ปียังอาจจะสั้นไปด้วยซ้ำ

ถ้าบริษัทเจ๊งก่อนหน้านั้น เท่ากับความคาดหวังตลอดชีวิตการทำงานของคุณนั้นสูญเปล่า

แม้บริษัทไม่เจ๊ง แต่ถ้าธุรกิจของบริษัทหดตัวลงมากเกินค่า ๆ หนึ่ง บริษัทก็จำเป็นจะต้องตัดต้นทุน — และการปลดพนักงานหรือปรับลดสวัสดิการก็คือหนึ่งในทางเลือกยอดนิยม

สำหรับผม ถ้ามองที่ระยะ 50 ปี — มีแค่ 2 บริษัทในโลกที่ผมรู้สึกว่ามีลุ้น ที่จะยังยิ่งใหญ่ไปถึงจุดนั้น

ธุรกิจไม่มีคำว่ามั่นคง

ในยุค 40 ปีก่อนหน้านี้ มีบริษัทที่อายุยืนยาวเป็น 100 ปีอยู่ไม่น้อย

แต่ในยุคที่ technology เติบโตและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา — อายุขัยขององค์กรและบริษัทจะหดสั้นลง

ผมไม่ได้มองอนาคตแบบ dystopian — แต่ผมเชื่อในการก้าวกระโดดของ technology — ทุกครั้งที่ technology ใหม่เข้ามา จะนำพาให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาล้มบัลลังก์ของผู้เล่นรายเก่า

มองแค่รอบ ๆ ตัวเราก็พอ

ธุรกิจเพลงที่เคยทำเงินมหาศาล ตอนนี้หดตัวต้องเปลี่ยนไปหารายได้จากการจัด concert และ event — รายได้เปลี่ยนมือไปอยู่กับกลุ่ม streaming ที่ยังไม่รู้ว่าจะชนะในระยะยาวหรือไม่

ภายใน 3 ปี รายได้จากธุรกิจทีวีแบบดั้งเดิมก็จะหดตัวลง — คนที่ปรับตัวไม่ทันก็จะเล็กลงอย่างน่าใจหายและถูกผู้เล่นหน้าใหม่ดึงรายได้ไป

ภายใน 10 ปี รายชื่อบริษัทกลุ่มธนาคารที่เราเห็นว่ายิ่งใหญ่ก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป — เมื่อการหมุนของเงินเปลี่ยนมือไปอยู่ในธุรกิจอื่น

ภายใน 15 ปีรถยนต์จำนวนมากจะกลายเป็นรถไฟฟ้า — ผู้เล่นในตลาดรถยนต์ก็จะเปลี่ยนชื่อไปอีก

ไม่มีธุรกิจไหนที่จะไม่มีโอกาสถูกโค่นด้วย technology — แม้กระทั่งบริษัท technology ด้วยกันเอง

Photo by Kevin — https://unsplash.com/photos/w7ZyuGYNpRQ

รัฐวิสาหกิจก็ไม่มั่นคง

เราได้เห็นผลงานของภาคการสื่อสาร และบริษัทกึ่งรัฐวิสาหกิจในกลุ่มขนส่งมาแล้ว — รัฐวิสาหกิจมีโครงสร้างที่ไม่เอื้อให้ปรับตัวได้เร็วเท่าเอกชน

Simple Logic — รัฐวิสาหกิจอยู่ในกรอบกติกาที่ยุ่งยากกว่าเอกชน — ถ้ามีองค์กรสองแบบที่อยู่ใน industry เดียวกันและมีทรัพยากรเท่ากัน องค์กรหนึ่งถูกมัดมือไวข้างหนึ่ง องค์กรที่ถูกมัดมือย่อมมีโอกาสแพ้สูงกว่า

ถ้ามองที่รัฐวิสาหกิจอย่างเร็ว ๆ มีเพียงการประปาเท่านั้นที่ผมยังไม่เห็นใครที่จะโผล่มาโค่นในเร็ววันนี้

รัฐวิสาหกิจมีข้อได้เปรียบอยู่ที่กฎหมายและสัมปทานที่ให้ monopoly ทรัพยากรหรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง — เมื่อสัมปทานหรือสิทธินั้น ๆ ด้อยค่าลง องค์กรก็จะด้อยค่าลงไปในทันที

เมื่อ solar cell มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและราคาลดลง ผู้ใช้งานส่วนหนึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้เอง การพึ่งพา grid จะลดลงไประดับหนึ่ง และผู้เล่นที่ยังอยู่บนพื้นฐานของสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติก็จะลดความสำคัญลง

โลกมีแนวโน้มที่เปิดมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านข้อมูล การเงิน หรือทรัพยากร

เกราะป้องกันอย่างเดียวคือการตั้งกฎหมายกีดกันเพิ่ม— ควบคุมหรือตั้งภาษี solar cell, ทำให้ ride-sharing หรือ cryptocurrency ผิดกฎหมาย, แบน technology แทนที่จะออกกฎหมายควบคุม, ตั้ง social network แห่งชาติ — อะไรเทือกนั้น

เราคงไม่อยากให้อนาคตของโลกต้องเป็นแบบนั้น

ถ้าเราอยากให้โลกก้าวไปข้างหน้า เราต้องยินดีกับการเปลี่ยนแปลง และทำใจว่าระบบที่ปรับตัวตามไม่ทันอาจต้องตายจากไป

Photo by Jason Blackeye — https://unsplash.com/photos/nyL-rzwP-Mk

แล้วการทำงานกับภาครัฐละ?

ความมั่นคงในการทำงานกับภาครัฐ เชื่อมโยงกับความมั่นคงของประเทศ — ผมขอไม่ถกเรื่องความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของประเทศ เดี๋ยวเรื่องมันจะยาว

ในมุมหนึ่ง มันก็ดูเหมือนมั่นคงมาก แต่เรากำลังแลกความมั่นคงนั้น ๆ กับผลประโยชน์ที่น้อยลงเป็นอย่างมาก — ความเสี่ยงที่เราไม่ได้คำนึงถึง คือ การเสียโอกาสทางการเงิน

ถ้าคุณไปรับงานที่ได้เงินมากกว่าภาครัฐ แล้วเอาส่วนต่างไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้ แม้อายุขัยของงานจะสั้นกว่า แต่ความมั่นคงส่วนตัวในระยะยาวของคุณอาจจะดีกว่า

หนึ่งในความแน่นอนของการทำงานกับภาครัฐ คือ การเสียการควบคุมทางการเงินไปอย่างแน่นอน

กองทุนเกษียณก็ไม่มีความมั่นคง

เงินเกษียณที่หลาย ๆ องค์กรและภาครัฐมีให้นั้น สุดท้ายก็คือการโอนถ่ายความรับผิดชอบในการบริหารเงินของเราไปให้คนอื่นบริหาร — สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงหมดไป

แม้กระทั่งถ้าคุณลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ — วิกฤติ sub prime ตอนปี 2008 ก็ทำให้เงินเกษียณของคนจำนวนมากหายไปได้

จริงอยู่ ถ้ากองทุนเกษียณสำคัญ ๆ บริหารผิดพลาด รัฐบาลอาจจะเข้ามาช่วยเหลือ แต่นั่นก็แลกมาด้วยความมั่นคงทางการเงินของรัฐบาลเช่นกัน

แม้กระทั่งพันธบัตรรัฐบาลหรือถือเงินสดไว้เฉย ๆ ประเทศก็ล้มละลายได้นะครับ — มีประชาชนหลายประเทศมั่นใจใน Cryptocurrency มากกว่าเงินประเทศตัวเองเสียอีก

Photo by Alessio Lin — https://unsplash.com/photos/p5bWbSeiLfs

แล้วทางออกอยู่ที่ไหน?

ความมั่นคงในการงาน อยู่ที่ตัวคุณ ไม่ใช่องค์กร

ความมั่นคงในด้านการงานไม่ได้วัดที่ความมั่นคงของบริษัทแต่เพียงอย่างเดียว แต่วัดที่ความสามารถของคุณในการหางานใหม่ด้วย

ถ้าคุณเป็นคนมีความสามารถอย่างแท้จริงในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ และสามารถขายตัวเองได้ คุณจะหางานใหม่เมื่อไรก็ได้

แทนที่จะพึ่งพาความมั่นคงขององค์กรโดยต้องแลกกับการเสียโอกาสในชีวิต ทำไมไม่ลับฝีมือตัวเองให้แข็งแกร่ง เพื่อที่จะเป็นที่ต้องการของตลาดและไม่ต้องกลัวการตกงานแทนละ? เป้าหมายนี้ต่างหากที่จะทำให้เราได้อิสรภาพในการทำงานและความมั่นคงที่แท้จริง

ความมั่นคงคือสิ่งที่เราต้องสร้างด้วยความรู้

ถ้าคุณมีความรู้ในสิ่งใด ๆ อย่างแท้จริง ถ้าสิ่งนั้นมีคุณค่า คุณจะแลกความรู้ของคุณให้มีมูลค่าได้

และเมื่อถึงจุดนั้น คุณจะรู้สึกถึงความมั่นคงที่แท้จริง

คุณควรจะฝากอะไรไว้กับคนอื่นก็ต่อเมื่อคุณไม่มีความรู้มากพอในการดูแลสิ่งนั้น ๆ และการเสียเวลาเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องที่คุ้มค่าสำหรับคุณ

สำหรับคำถามข้อที่ 2 ที่ผมตั้งไว้ข้างต้น ว่า “ความมั่นคงคือปัจจัยสำคัญในการเลือกงานจริง ๆ หรือ?” — คำตอบสำหรับผมก็คือ ไม่

สิ่งที่เราต้องแสวงหา คือ งานที่ทำให้เราได้ความรู้ที่ทำให้เรามีคุณค่าอย่างแท้จริงต่างหาก

อย่างไรก็ดี พึงระลึกด้วยว่า ความรู้ก็เสื่อมค่าได้ — เช่น ถ้าเป็นเมื่อ 500 ปีก่อนหากคุณเก่งด้านการรบ คุณอาจมีอนาคตที่ดี แต่วันนี้คุณต้อง click mouse ให้เร็วและมีเพื่อนร่วมทีมที่เก่งด้วยไม่งั้นคงหาเงินได้ยาก

คงมีเพียงคณิตศาสตร์เท่านั้น ที่เป็นนิรันดร์… มั๊ง … เอาเป็นว่ายั่งยืนกว่าความรู้ด้านอื่นก็แล้วกัน

Cleverse คือ บริษัทที่เชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงอนาคต และการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องคือหนทางที่จะทำให้เราสามารถสร้างเทคโนโลยีที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้น

ใครที่เชื่อในสิ่งเดียวกัน ส่งข้อความมาคุยกันได้ครับที่ Facebook & Twitter

Kittichai Jirasukhanon worked at Cleverse, a venture builder, with people who have fun building the future. If you also consider building the future a fun and meaningful purpose — let’s find a way we can work together.

--

--